ราคาค่าเปลี่ยนทอง คิดยังไง ?

01 Apr 2024 | เมื่อ 01:57 น.

 

ช่วงราคาทองลง หลายท่านคงอยากจะเอาทองไปเปลี่ยน ไม่ว่าจะเพราะใส่มานานแล้วเลยอยากปลี่ยนลายทอง สร้อยทองขาด แหวนทองบุบเบี้ยว หรือมีเงินเก็บมากขึ้นก็เลยอยากไปเพิ่มน้ำหนักทอง

 

ไม่ว่าจะเปลี่ยนลายทอง เพิ่มน้ำหนักทอง ก็จะมีค่าใช้จ่าย ก่อนจะไปร้านทองเรามาเตรียมตัวสักนิด ว่าการเอาทองไปเปลี่ยนลาย เพิ่มน้ำหนักทอง จะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่

 

การเปลี่ยนลายทอง เพิ่มน้ำหนักทอง ที่จริงก็คือการ “ขายทองเก่าแล้วซื้อทองใหม่” นั่นเอง

 

เช่น กรณีเพิ่มทอง จากแหวนทองครึ่งสลึง เป็นแหวนทอง 1 สลึง ก็คือการนำแหวนทองครึ่งสลึงไปขายคืน แล้วก็ซื้อแหวนทอง 1 สลึงมา เพียงแต่จ่ายเงินส่วนต่างระหว่างเงินค่าขายวงเดิมกับราคาวงใหม่

 

หรือกรณีเปลี่ยนลายสร้อยทอง 1 บาทเป็นลายใหม่ (ขนาด 1 บาทเท่าเดิม) ก็เช่นกัน คือเหมือนนำทองเส้นเดิมมาขาย แล้วซื้อเส้นใหม่

 

เช่นเดียวกันกับกรณีแตกสร้อยข้อมือทอง 2 สลึง เป็น 1 สลึง 2 เส้น หรือเปลี่ยนสร้อยข้อมือเป็นสร้อยทอง (เปลี่ยนสินค้า) ก็เป็นการ “ขายทองเก่าแล้วซื้อทองใหม่” เหมือนกัน

 

ประเด็นที่มักมีการพูดถึงกันบ่อยๆ ก็คือ “ทำไมถึงต้องเพิ่มเงินเยอะจัง” คือเยอะกว่าที่คิดไว้มาก

 

ข้อนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับ “ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ” กันก่อน

 

  1. 1. ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณ จะมีราคาต่ำกว่าราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง

     

  2. 2. ร้านทองส่วนมากจะเขียน(หรือมีป้าย) แจ้งราคากลางรับซื้อคืนทองรูปพรรณไว้ที่หน้าร้านเป็นราคาต่อกรัม แยกต่างหากจากราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง

     

  3. 3. เวลานำทองรูปพรรณไปขายคืน เราจะไม่ได้ค่ากำเหน็จ หรือค่าลาย(ที่จ่ายไปตอนซื้อ) คืน ไม่ใช่ว่าตอนซื้อมาลายสวย ค่ากำเหน็จแพง แล้วเวลาขายคืนจะได้ราคาแพงไปด้วย เพราะราคารับซื้อคืนทองก็จะคิดแต่ค่าเนื้อทองที่ชั่งได้เท่านั้น

     

  4. 4. เวลาร้านทองรับซื้อคืนทองจากลูกค้า ร้านทองจะคิดน้ำหนักทองตามที่ปรากฎตอนที่ชั่งบนตาชั่ง ไม่ได้ดูจากตัวเลขบนชิ้นทองหรือในใบรับประกัน หรือตามที่เราบอกว่าทองนี้เป็นขนาดกี่บาทหรือกี่สลึง เนื่องจากทองอาจน้ำหนักหายไปเล็กน้อยจากการสึกหรอจากการใช้งาน

     

  5. 5. ราคารับซื้อคืนทองคำแต่ละร้านทองอาจให้ราคาไม่เท่ากันได้ ขึ้นอยู่กับต้นทุนการบริหารจัดการของแต่ละร้านหรือแต่ละท้องที่

     

  6. 6. ราคารับซื้อคืนจริง อาจแตกต่างจากราคากลางได้ เนื่องจากราคากลางประกาศโดยสมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย แต่ร้านทองอาจใช้เกณฑ์ของสคบ. ซึ่งมีหลักการคำนวณต่างกัน โดยหลักเกณฑ์ตามประกาศของสมาคมค้าทองฯ จะหักจากราคารับซื้อคืนทองคำแท่ง 1.8% แต่เกณฑ์ของ สคบ. คือ หัก 5% จากราคารับซื้อคืนทองคำแท่งที่สมาคมฯ ประกาศ

     

ร้านทองจะคิดราคารับซื้อทองชิ้นเก่าจากลูกค้า แล้วนำมาหักลบกับราคาขายออกทองชิ้นใหม่ (ค่าเนื้อทองที่เพิ่มขึ้น กรณีที่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก บวกกับค่าลาย หรือค่ากำเหน็จ ซึ่งลายแต่ละลายอาจมีค่ากำเหน็จไม่เท่ากัน) จะได้จำนวนเงินที่เราต้องจ่ายเพิ่ม

 

สรุป ค่าเปลี่ยนทอง คิดจาก (ราคาทองเส้นใหม่ + ค่ากำเหน็จเส้นใหม่) - ราคารับซื้อทองเส้นเก่า = ส่วนที่ต้องจ่ายเพิ่ม 

 

ที่มาของข้อมูล

  1. 1. ประกาศสมาคมค้าทองคำที่ สคท.(ป) 001/2559 เรื่องการปรับเปลี่ยนราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ และราคาค่ากำเหน็จ http://goldtraders.or.th/downloads/gta/P001-59(gold_redemption_1May2016).pdf

     

  2. 2. คำถามที่พบบ่อย จากเว็บไซต์สมาคมค้าทองคำแห่งประเทศไทย https://www.goldtraders.or.th/FAQs.aspx

 

อ่านบทความ "ซื้อทองลายแบบไหนทนที่สุด" คลิ๊กที่นี่

 

รวมเรื่องทองคำ ที่คุณอยากรู้ ไว้ที่นี่แล้ว