ทองครึ่งสลึง หนักกี่กรัม-กี่บาท
01 Apr 2024 | เมื่อ 02:06 น.
ในการซื้อและขายทอง นอกจากจะมีการเรียกใช้หน่วยน้ำหนักทองเป็น “บาท” และ “สลึง” แล้ว ยังมีหน่วย “กรัม” อีกด้วย ซึ่งทองรูปพรรณ อย่าง สร้อยคอ, แหวนทอง, ต่างหู, กำไลทอง ฯลฯ จะมีน้ำหนักมาตรฐานต่างกับทองคำแท่ง และราคาก็ต่างกันด้วย
ในหน่วยน้ำหนักทองแบบไทย ทอง 1 บาท เท่ากับ 4 สลึง ดังนั้น ทองครึ่งสลึงจึงเท่ากับ 1/8 บาท หรือทองครึ่งสลึง 8 ชิ้นเท่ากับทอง 1 บาทนั่นเอง
มาตรฐานทองรูปพรรณ 1 บาท หนัก 15.16 กรัม ดังนั้น
ทองรูปพรรณ 2 สลึง หรือ 0.50 บาท จึงติดฉลากที่ชิ้นทองว่าหนัก 7.58 กรัม
ทองรูปพรรณ 1 สลึง หรือ 0.25 บาท จึงติดฉลากที่ชิ้นทองว่าหนัก 3.79 กรัม
ทองรูปพรรณครึ่งสลึง หรือ 0.125 บาท จึงติดฉลากที่ชิ้นทองว่าหนัก 1.89 กรัม
นอกจากนี้ยังมีทองรูปพรรณขนาด 1 กรัม และ 0.6 กรัมด้วย
มาตรฐานทองคำแท่ง 1 บาท หนัก 15.244 กรัม ดังนั้น
ทองคำแท่ง 2 สลึง หรือ 0.50 บาท จึงหนักเท่ากับ 7.622 กรัม
ทองคำแท่ง 1 สลึง หรือ 0.25 บาท จึงหนักเท่ากับ 3.811 กรัม
ทองคำแท่งครึ่งสลึง หรือ 0.125 บาท จึงหนักเท่ากับ 1.905 กรัม
นอกจากนี้ยังมีทองคำแท่งขนาด 1 กรัมด้วย จะเห็นได้ว่า ทองคำแท่ง 1 กรัมจะใกล้เคียงกับ ครึ่ง-ของ-ครึ่งสลึง
ดูรูปทอง 1 กรัมสวยๆ คลิกเลย
นอกจากนี้หน่วยน้ำหนักแบบโบราณของ ทองครึ่งสลึง ยังมีชื่อเรียกว่า 1 เฟื้อง หรือ 5 หุน อีกด้วย ซื่ง เฟื้อง และ หุน เป็นหน่วยเรียกน้ำหนักทองคำในอดีต ก่อนจะเปลี่ยนมาเรียกหน่วยทองคำเป็น บาท, สลึง, สตางค์, กรัม ในปัจจุบัน
ราคาทองครึ่งสลึง หากคิดแต่ราคาค่าเนื้อทองอย่างเดียวก็ตกประมาณราคาทอง 1 บาท หารด้วย 8 เช่น ถ้าทอง 1 บาทขายอยู่ที่บาทละ 20,000 บาท ทองครึ่งสลึงก็จะอยู่ที่ 2,500 บาท ทั้งนี้ทั้งทองคำแท่ง และ ทองรูปพรรณ จะมีค่าบล็อคและค่ากำเหน็จบวกเข้าไปเพิ่มอีก
ทองคำแท่ง และทองรูปพรรณมีค่าบล็อคและค่ากำเหน็จแตกต่างกัน ทองคำแท่งค่าบล็อคจะอยู่ที่ราวๆ 200-300 บาทต่อชิ้น ส่วนทองรูปพรรณค่ากำเหน็จจะอยู่ราวๆ ชิ้นละ 500-800 บาท หากต้องการซื้อเพื่อรอขายคืนเอากำไร ควรเลือกเป็น ทองคำแท่ง เพราะมีค่าบล็อคที่ถูกกว่าค่ากำเหน็จของทองรูปพรรณ รวมถึงเวลาขายคืนจะหักราคาน้อยกว่าด้วย
ทองคำแท่งที่มีน้ำหนักน้อยกว่าทองครึ่งสลึง ที่ได้รับความนิยมคือ ทองคำแท่ง 1 กรัม ซึ่งหนักใกล้เคียง ครึ่ง-ของครึ่งสลึง ราคาก็จะอยู่ที่ราวๆ 1,400-1,600 บาท
รวมเรื่องทองคำ ที่คุณอยากรู้ ไว้ที่นี่แล้ว
