ออมในอะไรดี? สำหรับมนุษย์เงินเดือน (เพิ่งเริ่มทำงาน)

02 Apr 2024 | เมื่อ 10:30 น.

 

การออมเป็นวิธีพื้นฐานที่จะสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งในระยะเวลายาว ซึ่งช่องทางการออมไม่ได้มีเพียงแค่การฝากในธนาคารอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีรูปแบบอื่นๆ ที่เราสามารถวางแผนขยับขยายเงินไปไว้และทำให้งอกเงยขึ้นได้ อย่าง 5 รูปแบบออมเงินง่ายๆ เหล่านี้

 

1. ออมเงินใน “สลากออมสิน, ธกส“: เป็นรูปแบบการออมเงินพื้นฐานที่ดีอย่างหนึ่ง คล้าย ๆ กับการฝากเงินในธนาคาร ที่มีดอกเบี้ยเงินฝากให้ตามอัตราที่กำหนด แต่สิ่งที่แตกต่างคือ มีสิทธิ์ลุ้นถูกรางวัลทุกๆ เดือน เหมือนกับ ลอตเตอรี่ โดยการซื้อสลากนั้นจะซื้อเป็น “หน่วย “ มีระยะเวลาในการถือครองกำหนดไว้คือ 3 ปี เหมาะสำหรับคนที่ตั้งใจเก็บเงินในระยะยาว ซึ่งข้อดีคือเงินต้นยังอยู่ พร้อมได้ดอกเบี้ยเงินฝากและมีโอกาสได้เงินเพิ่มจากการถูกรางวัลอีกด้วย

 

สลากออมสิน หน่วยละ 50 บาท, ดอกเบี้ยฝากครบ 3 ปี 0.60 บาท / หน่วย   

- สลาก ธกส หน่วยละ 100 บาท, ดอกเบี้ยฝากครบ 3 ปี 0.75 บาท / หน่วย 

 

2. ออมในเงิน “กองทุนรวม“: เป็นอีกหนึ่งรูปแบบสำหรับการออมเงินเพื่อให้เกิดผลงอกเงย โดย กองทุนรวม (Mutual Fund) คือ เครื่องมือในการลงทุนสำหรับคนที่สนใจลงทุน แต่ไม่มีประสบการณ์, ไม่มีความชำนาญในการลงทุน หรืองบน้อย โดยจะมีเจ้าหน้าที่มืออาชีพคอยดูแลบริหารเงินที่ได้รวบรวมจากนักลงทุนคนอื่นๆ นำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ให้เกิดผลกำไรงอกงาม ซึ่งแต่ละกองทุนจะมีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป และมีบางกองที่ จ่ายเงินปันผล รวมถึงประโยชน์เรื่องการลดหย่อนภาษี และโอกาสเกิดการขาดทุนขึ้นได้ โดยจำนวนกองทุนรวมในประเทศไทยมีหลากหลายเช่น

 

กองทุนรวมผสม ลงทุนในสินทรัพย์รวมหลายประเภท

กองทุนรวมหุ้น หรือ ตราสารทุน  ลงทุนในตลาดหุ้น

กองทุนรวมตราสารหนี้ ลงทุนในเงินฝาก, พันธบัตร, หุ้นกู้ ทั้งของภาครัฐและเอกชน

กองทุนรวมตลาดเงิน ลงทุนในเงินฝากธนคาร ระยะสั้น

- กองทุนรวม RMF, LTF เป็นกองทุนรวมเพื่อประโยชน์ทางภาษี          

 

3. ออมเงินใน “หุ้น“: คือการนำเงินไปซื้อหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บริษัทที่มี มหาชน ต่อท้าย) โดยตรงด้วยตัวเอง เราจะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของกิจการนั้นด้วย คล้ายๆ กับ หุ้นส่วนร้านค้า ซึ่งการออมเงินในหุ้นจะเน้นหุ้นบริษัทที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว สร้างผลตอบแทนกำไร, ส่วนต่างราคาหุ้นหรือเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจต้องอาศัยการศึกษาข้อมูลหุ้นแต่ละตัวอย่างละเอียด รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อตลาดหุ้น พอสมควร เพราะถือได้ว่ามีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

 

4. ออมเงินใน “ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์“: ซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นการผสมผสานกันระหว่างการคุ้มครองชีวิตและการออมเงิน โดยเบี้ยประกัน หรือ เงินที่เราส่งไปทุกๆ ปีหรือทุกๆ เดือน จะได้รับคืนเมื่อครบกำหนดตามสัญญา ซึ่งมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 – 5 ปี หรือยาวไปจนถึง 20 ปีก็มี ข้อดีของการซื้อประกันแบบสะสมทรัพย์คือมีหลักประกันทางการเงินให้กับคนที่รักเมื่อเราเกิดเสียชีวิต แต่ก็มีข้อเสียคือต้องจ่ายเบี้ยประกันอย่างสม่ำเสมอตามเงินที่ตกลงกันไว้ ถึงจะได้เงินคืนตามเงื่อนไข นอกจากนี้ยังไม่สามารถถอนเงินออกมากลางคันหากเกิดปัญหาการเงินฉุกเฉิน ซึ่งจะไม่เหมือนกับเงินฝาก ที่เบิกได้ตลอด

 

5. ออมเงินใน “ทองคำ”: การเก็บทองแทนเก็บเงิน ไม่แตกต่างจากรูปแบบการฝากเงินในธนาคาร แต่เปลี่ยนจากเก็บในบัญชีเงินฝากประจำมาเป็นบัญชีออมทอง ซึ่ง “การออมทอง” คือการนำเงินที่จะออมนั้นไปซื้อทองคำทุกเดือน ในจำนวนเงินเท่าๆ กัน โดยเริ่มต้นด้วยเงินหลักพัน เลือกออมผ่านธนาคารหรือแอปพลิเคชั่นได้ โดยมั่นใจได้ว่าทองที่ออมจะไม่สูญหาย และหากอยากได้ทองคำ (ทองคำแท่ง) ที่ออมไว้มาเก็บก็ทำเรื่องเบิกถอนออกมาได้ หรือจะขายคืนเพื่อนำเงินออกมาใช้ ซึ่งข้อดีของการออมในทองคำนั้น จะได้ราคาทองแบบเฉลี่ย สามารถเก็บสะสมไปเรื่อยๆ ในระยะยาวได้ ซึ่งคนที่ไม่มีเงินก้อนใหญ่ในการซื้อทองน้ำหนักเยอะๆ 1 บาท, 5 บาท ก็มักใช้วิธีนี้ทะยอยซื้อ

 

เก็บเงินไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถเริ่มต้นและวางแผนการออมได้ เพียงแค่ลงมือทำ เพราะเงินที่ได้จากการเก็บหอมรอมริบ สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยนช์ในอนาคตและสร้างความสุขในบั้นปลายชีวิตได้ สิ่งสำคัญคือ วันนี้ลงมือเก็บออมแล้วหรือยัง