4 ตรวจสอบ 4 สาเหตุสำคัญ ที่มาของ "หนี้สิน"

05 Apr 2024 | เมื่อ 01:18 น.

 

หนี้สินเยอะ มาจากหลายสาเหตุ อยากปลดหนี้ก็ควรวางแผนใช้จ่าย และปรับเปลี่ยนสาเหตุต่างๆ ที่ก่อให้เกิดหนี้ขึ้น และหาช่องทางการออมเงินพร้อมกับจ่ายหนี้ไปด้วย

 

1. ไม่ค่อยใช้เงินสดในการใช้จ่ายเท่าไหร่: เรียกได้ว่าห่างไกลกับการใช้ “เงินสด” แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความสะดวกสบายในการจ่ายผ่านบัตรเครดิต,อินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้ง, หรือกระเป๋าสตางค์อิเลคโทรนิคต่างๆ แต่เงินสดก็ยังสำคัญอยู่ เพราะสามารถคำนวนเงินในกระเป๋าในแต่ละวันได้ และส่วนใหญ่ยังคงมีการซื้อขายผ่านเงินสด ซึ่งบางครั้งการจ่ายผ่านช่องทางอื่นๆ หากไม่มีการควบคุม วางแผน ก็อาจส่งผลต่อเงินในกระเป๋าได้เช่นกัน ดังนั้นหากไม่จำเป็นที่ต้องจ่ายผ่านช่องทางอื่นก็ให้จ่ายด้วยเงินสดในกระเป๋าดู

 

2. เข้าถึงง่ายกับ บัตรเครดิต และ สินเชื่อ: มีบัตรเครดิตหลายใบรวมถึง สินเชื่อส่วนบุคคล ที่เอาไว้ใช้จ่าย ซึ่งบางครั้งก็เกินความจำเป็น เพราะวงเงินเหล่านี้มักจะสูงกว่ารายได้ ทำให้บางคนใช้แบบไม่คิด ไม่ระมัดระวังอยากได้อะไรก็ซื้อ แม้ราคาจะแพงเกินไปก็ตาม ทำให้บางครั้งยอดค่าใช้จ่ายก็สูงเกินกว่ารายได้ที่มี จนนำไปสู่การผ่อนชำระขั้นต่ำ ที่มีดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งทำให้มีผลต่อเงินเดือน ที่บางทีก็เดือนชนเดือน ไม่พอใช้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ยิ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงิน ก็อาจเกิดการขาดชำระ ยิ่งโดนดอกเบี้ยปรับสูงไปอีก ดังนั้นควรวางแผนใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ อย่างรอบคอบ ควรแบ่งให้ชัดเจนว่าอันไหนใช้จ่ายอะไรบ้าง

 

3. ใช้จ่ายเพื่อให้รู้สึกดี: จริงๆ แล้วก็ถือว่าเป็นการใช้จ่ายเพื่อตัวเอง ที่เป็นปกติยู่แล้ว แต่บางครั้งก็ไม่สามารถควบคุมความต้องการของตัวเองได้, บางคนใช้จ่ายซื้อความสุขให้ตัวเองเกินความจำเป็น คือเห็นแล้วอยากได้ก็ซื้อเลยโดยไม่ดูราคาว่าแพงเกินไปหรือไม่ หรือซื้อ,จ่ายความสุขให้ตัวเองบ่อยๆ เช่นดูหนังทุกอาทิตย์, เที่ยวต่างประเทศทุกเดือน, อัพเดตเทรนต่างๆ ตลอด ฯลฯ ซึ่งบางครั้งเราก็หาความสุขและทำให้ตัวเองรู้สึกดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงิน

 

4. ไม่ค่อยคิดถึงอนาคต: เป็นการใช้จ่ายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หรือ เดือนชนเดือน ไม่มีการวางแผนการเงินเพื่ออนาคต ซึ่งบางคนพอเงินเดือนออกก็ไม่มีการแบ่งสัดส่วนเงินเพื่อที่จะเก็บสำหรับจุดประสงค์อื่นๆ เลย เช่น ซื้อบ้าน, ซื้อรถ, แต่งงาน, การศึกษาลูก, ลงทุน, เลี้ยงดูพ่อแม่ หรือแม้แต่เก็บเพื่อเกษียณอายุของตัวเอง ซึ่งหากถึงช่วงเวลานั้นจริงๆ เงินอาจไม่พอสำหรับใช้จ่ายในเรื่องต่างๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ที่หากเตรียมเงินฉุกเฉิน ไว้ไม่พอ อาจต้องมีการหยิบยืมจนก่อหนี้ขึ้น ดังนั้นเราสามารถออมเงินพร้อมกับการมีหนี้และจ่ายหนี้ได้ หากหาตัวช่วยในการเก็บเงินหรือวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพ

 

นอกจากนี้ ภาระหนี้สินรวมไม่ควรเกิน 35% - 45% ของรายได้รวม ลองสำรวจตัวเองดูว่าตอนนี้คุณมีหนี้สินอะไรบ้าง และหนี้เหล่านั้นจำเป็นที่ต้องมีหรือไม่ (ไม่รวม หนี้บ้าน, รถ) หากไม่จำเป็นก็ทำการปลดหนี้ซะ ซึ่งวิธีปลดหนี้ที่ดีคือปลดตัวที่มีดอกเบี้ยสูงก่อนแล้วค่อยปลดหนี้ที่ดอกเบี้ยน้อยตาม จะทำให้เรามีเงินเหลือที่จะเก็บ และสิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ควรสร้างหนี้ที่เกินความสามารถในการชำระ เพราะหากมีหนี้มากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการเงินในอนาคตระยะยาว

 

อ่านบทความเพิ่มเติม "10 เรื่องสำคัญที่ควร "วางแผนการเงิน" ให้เป็นระบบ (เพื่อชีวิตที่ง่ายขึ้น)"